Project Citizen

Project Citizen
โครงการเพิ่มพูนความรู้ ส่งเสริมทักษะของนักเรียน และปลูกฝังความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง สามารถทำงานร่วมกันได้ ให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างชาญฉลาด ส่งเสริมเสรีภาพและภราดรภาพ ส่งเสริมสวัสดิการพื้นฐาน นำไปสู่การมีความรับผิดชอบที่มีการพัฒนาองค์ความรู้ และทักษะต่างๆ เพื่อจะทำให้ชุมชนดีขึ้น...ครูชาญวิทย์

วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

จิตสำนึก คือ อะไร




          จิตสำนึก เป็นสภาพที่รู้ตัวว่าคือใคร อยู่ที่ไหน ต้องการอะไร หรือกำลังรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งใด เมื่อแสดงพฤติกรรมอะไรออกไปก็แสดงออกไปตามหลักเหตุและผล แสดงตาม แรงผลักดันจากภายนอก สอดคล้องกับหลักแห่งความเป็นจริง (principle of reality)
          จิตสำนึกเป็นระดับเหตุผลภายในใจ  ที่ส่งผลต่อการแสดงออกในพฤติกรรมต่างๆ โดยเลือกแล้วว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร เป็นการระลึกรู้ได้เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของตัวเองในโครงสร้างสังคม 
          ดังที่เราจะได้ยินบ่อย ๆ ว่า จิตสำนึกแห่งความเป็นครู  จิตสำนึกของพลเมือง จิตสำนึกสาธารณะ  จิตสำนึกของการเป็นคนดี  จิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม จิตสำนึกจึงเกี่ยวโยงกับคุณธรรม และจริยธรรมของบุคคลนั่นเอง 

          การที่บุคคลจะมีคุณธรรม มีจิตสำนึกที่ดี จำต้องมีการอบรมสั่งสอนหรือซึมซับประสบการณ์จากครอบครัว หรือสังคมรอบตัว และผ่านการกระทำจนเป็นสันดานแห่งความดี หรือจิตสำนึกนั่นเอง อยู่ๆจะให้มีจิตสำนึกเกิดขึ้นเองคงจะเป็นไปได้ยาก

จิตสำนึก คือ อะไร ??

          มีหลายกลุ่ม หลายนักคิดให้คำนิยามหลายอย่าง ในที่นี่ขอใช้การใคร่ครวญถึงความหมายนี้ ว่าน่าจะหมายถึงอะไร
          จิตสำนึกคือ การระลึกรู้ได้เกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในโครงสร้างสังคม ดังที่เราจะได้ยินบ่อย ๆ ว่า จิตสำนึกแห่งความเป็นครู  จิตสำนึกของพลเมือง จิตสำนึกสาธารณะ  จิตสำนึกของการเป็นคนดี  จิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม

จิตสำนึกเกิดจากอะไร ??

          จิตสำนึกเกิดจากระบบสังคมนั่นเอง  สังคมเป็นอย่างไร จิตสำนึกก็เป็นเช่นนั้น ระบบสังคม ก่อให้เกิดโครงสร้างตำแหน่งทางสังคมที่ซ้อนทับกันอยู่
          เมื่อเรายังเด็ก เราก็ได้เรียนรู้จิตสำนึกของความเป็นลูก  จิตสำนึก ของความเป็นนักเรียน  พอโตขึ้นมีโครงสร้างและตำแหน่งที่เลื่อนไหลไปมา เราก็กลายเป็นจิตสำนึกตามตำแหน่งหน้าที่
          ซึ่งในโครงสร้างเราอาจมีอยู่หลายหน้าที่  เช่นเป็นพ่อแม่ เป็นลูก  มีตำแหน่งงานราชการ เอกชน
สิ่งที่บุคคลได้เรียนรู้จากสังคมที่สำคัญที่สุดคือ อำนาจ
          พอเราเป็นเด็ก เราได้เรียนรู้ว่า ผู้ใหญ่นั้นมีอำนาจมากกว่าเด็ก  ครูมีอำนาจมากกว่าเด็ก ไม่ว่าเราจะอยู่ในโครงสร้างไหนก็ตาม สังคมจะมีการสร้างความรู้สึกยินยอมต่ออำนาจ หรือมีจิตสำนึกตามโครงสร้าง

กลไกของการเกิดจิตสำนึก

          โครงสร้างสังคมหรือสถาบันทางสังคมที่มีอำนาจและศักยภาพ เป็นผู้ก่อรูปการจิตสำนึก ครอบครัวอยู่ใกล้ชิดบุคคล มีส่วนกำหนดจิตสำนึก
          โรงเรียนมีส่วนกำหนดจิตสำนึก กลุ่มเพื่อนมีส่วนกำหนดจิตสำนึก  และสถาบันสื่อสารมวลชนเป็นผู้กำหนดจิตสำนึก
          ดังนั้นเมื่อเราอยู่ในโครงสร้างส่วนใด ก็จะได้เรียนรู้จิตสำนึกนั้น เป็นชุดของจิตสำนึก กลายเป็นระบบความคิดความเชื่อผสมผสานกันไป
          จิตสำนึกก่อให้เกิดการรวมหมู่ เช่น คนที่มีความคิดความเชื่อ คล้าย ๆ กัน  ก็จะมีจิตสำนึกที่ใกล้เคียงกัน
          จิตสำนึกจะบอกว่าเราเป็นใคร?  มีตำแหน่งแห่งที่อยู่ที่ไหน ? มีเป้าหมายอย่างไร?  ไปทางไหน ?  เนื่องจากจิตสำนึก เป็นสิ่งที่ถูกผลิตสร้าง มีความเปลี่ยนแปลงและผสมผสาน และกระจายรูปแบบไปอย่างซับซ้อน
          จิตสำนึกนั้นจะให้คุณค่ากับอะไรมากว่าอะไร  ก็จะมีคำตอบอยู่ในชุดของความคิดความเชื่อในจิตสำนึกนั้น

จิตสำนึก สร้างและสืบทอดได้ไหม ??  

          จิตสำนึกเป็นผลผลิตที่สร้างขึ้นมาและผลิตซ้ำสืบทอดกันได้ โดยมีกิจกรรม ที่ตอกย้ำซ้ำเตือนกันบ่อย ๆ  กิจกรรมในพิธีกรรม
          ถ้าจะตามหาจิตสำนึกที่เป็นโครงสร้างส่วนบน ก็ต้องมองหากิจกรรมที่ทำซ้ำ ๆ กัน  กิจกรรมในพิธีกรรม จะเห็นมิติทางด้านอารมณ์ซึ่งสมองจะสามารถรับรู้ได้ดีกว่า
          ในพิธีกรรมจะเห็นได้ชัดว่า ให้คุณค่ากับอะไร สร้างและสืบทอดกัน  เป็นการศึกษาตามอัธยาศัย ทีทรงประสิทธิภาพ

จิตสำนึก มีกี่แบบ ??

          จิตสำนึกมีอยู่สองแบบ คือ
          แบบที่หนึ่ง จิตสำนึกเพื่อตอกย้ำถึงตำแหน่งแห่งที่ในระบบ เป็นเป็นระบบวิถีชีวิตประจำวันตามปกติ
          และแบบที่สอง  จิตสำนึกในสถานการณ์ ไม่ปกติ  เช่นมีการเขย่าโครงสร้างสังคมในเวลาวิกฤติ เช่น การชุมนุมประท้วงตั้งแต่ระดับเบา ๆ ไปถึง ระดับรุนแรง ที่เป็นการเขย่าโครงสร้างสังคม  การที่คนปกติได้รับ
          การผลิตซ้ำให้มีจิตสำนึกตามหน้าที่  ได้ถูกสร้างจิตสำนึกใหม่ ให้เป็นจิตสำนึกแห่ง ผลประโยชน์ ทางชนชั้น  ดังที่จะได้เห็นจากการให้ข้อมูลใหม่ ๆ ตอกย้ำ ซ้ำๆ กัน
          บางอย่างมีการทำพิธีกรรม เพื่อสื่อให้เห็นถึงเป้าหมาย และคุณค่าใหม่ ที่จะดำเนินต่อไป การเคลื่อนย้ายตัวตนจิตสำนึกจากเดิม ไปสู่ใหม่มีเงื่อนไขมาจากสถานการณ์ไม่ปกติ
          ผู้นำการเคลื่อนไหว  ได้กลายเป็นสถาบันแทนสถาบันหลัก ๆ ดังกล่าว  อารมณ์และความรู้สึก
มีความจำเป็นในการตอกย้ำจิตสำนึก  กิจกรรมการแบกโลง เผาหุ่น ล้วนแต่เป็นการกระทำ
เชิงโครงสร้างสัญญะทั้งสิ้น

จิตสำนึก  ปลูก ได้ไหม ??

          จิตสำนึก ปลูกได้ ผลิตได้  สร้างได้ สร้างได้ใน การศึกษาตามอัธยาศัยเท่านั้น ยกตัวอย่าง จิตสำนึกประชาธิปไตย ในห้องเรียน เป็นเพียงรูปแบบประชาธิปไตยที่ต้องได้รับอนุญาตจากโครงสร้างที่ใหญ่กว่าคือครู  ตามวัฒนธรรมอำนาจที่ครูเป็นใหญ่กว่านักเรียน ทำให้คุณค่าและเป้าหมายของจิตสำนึกประชาธิปไตยไม่ได้เป็นอย่างสากล แต่เป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ อย่างที่เราได้เห็นในสถานการณ์บ้านเมือง
          ในห้องเรียนสิ่งที่ปลูกฝังได้ไม่ใช่สิ่งที่พูด  แต่เป็นวัฒนธรรมของโครงสร้างอำนาจและการบริโภคแบบทุนนิยม ที่ได้รับแบบอย่างจากการเห็น ซึ่งเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย ระบบสังคมเป็นอย่างไรจิตสำนึกเป็นอย่างนั้น
          จิตสำนึกที่มาแรงที่สุดตอนนี้ ก็คือ จิตสำนึกแบบทุนนิยม โครงสร้างแบบนี้ก็คือ เป็นผู้บริโภคสินค้าและทรัพยากรที่ดี ทำทุกอย่างเพื่อเงิน
          จะเห็นได้ว่าบางบ้านเห็นบุตรหลานไม่ใช่บุตรหลานอีกต่อไป  บางคนขายลูกหลานให้ไปเป็นโสเภณี ซื้อขายเก้าอี้ ซื้อขายตำแหน่ง  ซื้อขายสิทธิ์ ซื้อขายเสียงเป็นทรัพยากรต่าง ๆ เป็นเงิน เป็นความมั่งคั่ง เป็นโภคยทรัพย์
          ถามว่าสิ่งที่มาแรงเหล่านี้มันปลูกจิตสำนึกได้แรงจัง เพราะอะไร เพราะมันปรากฏเป็นความเชื่อ ความคิดของระบบสังคม มีคนยึดถือปฎิบัติ
          ตั้งแต่ระดับครอบครัว กลุ่มเพื่อน ในโรงเรียน และสื่อมวลชน สิ่งที่ตอกย้ำทรงพลังที่สุดคือสื่อมวลชน เพราะทำหน้าที่โฆษกของระบบทุนนิยม
          เพื่อกระจายสินค้า ผ่านละคร ที่ส่วนใหญ่เป็นคนรวย ไม่ค่อยมีการงานทำ แต่งตัวหรูหรา เอาใจใส่และริษยาแย่งทรัพย์สมบัติ แย่งพระเอกที่เป็นคนรวย
          นอกจากนั้นแล้วสถาบันศาสนา ก็เน้นวัตถุนิยม บุญเป็นการค้า ตลอดจนการทำหน้าที่ ปลอบประโลมให้คนอยู่รับใช้ระบบทุนนิยม มีเงินมาก ได้บุญมาก
          จิตสำนึกที่มีพลังที่สุด ก็จะครอบครองความเป็นเจ้า (Hegemoney) และก็จะกดทับ ปิดกั้น จิตสำนึกรูปแบบอื่น  ไม่ว่าจะเป็นจิตสำนึกสาธารณะ จิตสำนึกทางสังคม

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/508271

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น