Project Citizen

Project Citizen
โครงการเพิ่มพูนความรู้ ส่งเสริมทักษะของนักเรียน และปลูกฝังความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง สามารถทำงานร่วมกันได้ ให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างชาญฉลาด ส่งเสริมเสรีภาพและภราดรภาพ ส่งเสริมสวัสดิการพื้นฐาน นำไปสู่การมีความรับผิดชอบที่มีการพัฒนาองค์ความรู้ และทักษะต่างๆ เพื่อจะทำให้ชุมชนดีขึ้น...ครูชาญวิทย์

วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย 

            ประชาธิปไตย  คือ  การปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน  โดยประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามความพอใจของตนเองอย่างเต็มที่  แต่ต้องไม่ไปละเมิดต่อสิทธิของบุคคลอื่นหรือขัดต่อกฎหมาย  ในระบอบประชาธิปไตยทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญและมีหน้าที่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายบัญญัติไว้

อำนาจอธิปไตย
            อำนาจอธิปไตย  คือ  อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชนทุกคน  แต่เนื่องจากจำนวนของประชาชนมีมากมาย  การจะให้ประชาชนทุกคนมาร่วมกันบริหารประเทศย่อมเป็นไปไม่ได้  ประชาชนจึงต้องแต่งตั้งตัวแทนที่ตนเองเห็นว่าเหมาะสมและจะรักษาผลประโยชน์ของตนเองและประเทศชาติได้ เข้าไปทำหน้าที่แทน  โดยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจ (แต่งตั้ง) ทั้งสามนี้ผ่านกลุ่มผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน

            อำนาจอธิปไตยแบ่งเป็น 3  อำนาจ ดังนี้

            1. อำนาจนิติบัญญัติ     โดยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา  ซึ่งผู้ที่จะใช้อำนาจนี้  คือ  กลุ่มบุคคลที่อาสามาเป็นตัวแทนของปวงชนหลายๆ คนรวมตัวกันตั้งเป็นพรรคการเมือง เสนอตัวบุคคลที่ทางพรรคเห็นว่าเหมาะสมให้ประชาชนเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) มีอำนาจในการออกกฎหมาย  ยกเลิก  แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ  และปกป้องสิทธิ  เสรีภาพของประชาชน  รวมทั้งการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นแก่สังคม  กับบุคคลที่ไม่สังกัดหรือเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)  มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรบัญญัติขึ้น แต่ในเรื่องที่สำคัญมากๆ เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของแผ่นดิน สภาใดสภาหนึ่งไม่มีอำนาจให้ความเห็นชอบได้   ต้องประชุมร่วมทั้งสองสภา  เรียกว่า  รัฐสภา  จึงให้ความเห็นชอบได้ เช่น  การประกาศสงคราม  การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบสนธิสัญญา  เป็นต้น
 
            รัฐสภา   เป็นการประชุมและลงมติร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาโดยประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา   ในกรณีที่ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทนในกรณีต่อไปนี้ ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน
                1) การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
                2) การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา
                3) การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
                4) การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ
                5) การมีมติให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องอื่นในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติได้
                6) การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุม
                7) การเปิดประชุมรัฐสภา
                8) การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
                9) การให้ความเห็นชอบให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติใหม่
               10) การให้ความเห็นชอบให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติต่อไป
               11) การแถลงนโยบาย
               12) การเปิดอภิปรายทั่วไป
               13) การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม
               14) การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบสนธิสัญญา

            2. อำนาจบริหาร พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร   ตามมติคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรและจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระหรือเกินกว่าแปดปีมิได้   สุดแต่ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งกรณีใดจะยาวกว่ากัน  โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยไม่มีการลงมติไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ และเมื่อเข้ารับหน้าที่แล้วต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อกำหนดแนวทาง การปฏิบัติราชการของแต่ละปี

            3. อำนาจตุลาการ  คือ  อำนาจที่ให้แก่ศาลในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีความต่างๆ  ตามที่กฎหมายกำหนดไว้  โดยศาลมีหน้าที่ให้ความยุติธรรมแก่ทุกคนตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราขึ้นมาใช้   โดยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการผ่านทางศาลต่างๆ ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้
                1)   ศาลยุติธรรม   มีประธานศาลฎีกาเป็นหัวหน้าฝ่ายตุลาการ   ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง  เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ศาลยุติธรรมมีสามชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา  เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้หรือตามกฎหมายอื่น
                       (1) ศาลชั้นต้น  เป็นศาลที่ผู้ได้รับความเดือดร้อนต่อการละเมิดกฎหมายหรือเกิดข้อพิพาทใด ๆที่ไม่สามารถตกลงกันได้  จำต้องขอให้ศาลมีคำสั่งหรือตัดสินคดีให้เป็นอันดับแรก   มีอยู่ด้วยกันหลายศาลตามลักษณะของคดี  เช่น  ศาลแขวง   ศาลจังหวัด   ศาลแพ่ง  ศาลอาญา  ศาลคดีเด็ก  ศาลเยาวชนและครอบครัว  ศาลภาษีอากร  ศาลแรงงาน  ศาลแรงงานกลาง  ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
                       (2)  ศาลอุทธรณ์   มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่กฎหมายบัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์   โดยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด  และให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
                       (3)  ศาลฎีกา  มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่รัฐธรรมนูญ   หรือกฎหมายบัญญัติให้เสนอต่อศาลฎีกาได้โดยตรง  และคดีที่อุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์    และมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยต้องใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็ว   และให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา โดยองค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา   ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนเก้าคน ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ และให้เลือกเป็นรายคดี   คดีที่ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาแล้วถือว่าคดีนั้นสิ้นสุดเด็ดขาด
                2)  ศาลรัฐธรรมนูญ   มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งหมด  และมีหน้าที่ควบคุมไม่ไห้มีการออกกฎหมายที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ  ผู้ที่ทำหน้าที่ในศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย  ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  1  คน  และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก  14  คน  โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำเสนอของวุฒิสภา  ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
                3)   ศาลปกครอง  มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

                    ศาลปกครอง  มี  3  ระดับ  คือ  ศาลปกครองชั้นต้น  ศาลปกครองชั้นอุทธรณ์  ศาลปกครองสูงสุด  การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษตุลาการในศาลปกครองต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองอันประกอบประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเก้าคนซึ่งเป็นตุลาการในศาลปกครองและได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองด้วยกันเอง   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาสองคน และจากคณะรัฐมนตรีอีกหนึ่งคน
                4)  ศาลทหาร  มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทหาร  หรือคดีที่ทหารกระทำผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่มีโทษถึงจำคุก

            ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับจะกำหนดให้อำนาจทั้งสามแยกเป็นอิสระจากกัน  มีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน   เพื่อป้องกันไม่ให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งมีอำนาจมากกว่าอำนาจอื่น   อันจะนำไปสู่การใช้อำนาจไปในทางที่ผิด  ทำให้ประชาชนและประเทศได้รับความเดือดร้อนเสียหาย


อำนาจอธิปไตย


การถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจอธิปไตย
            ความสัมพันธ์หรือการถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้ง  3  มีลักษณะ  ดังนี้

            1.   ฝ่ายนิติบัญญัติ   หรือรัฐสภา  นอกจากจะมีอำนาจด้านนิติบัญญัติแล้ว  ยังมีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร  หรือรัฐบาลให้เป็นไปตามที่ฝ่ายบริหารได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา  หรือเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติเห็นว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อน  หรือประชาชนมีความต้องการความช่วยเหลือ  แต่ฝ่ายบริหารยังไม่เข้าไปแก้ปัญหานั้นๆ ให้ประชาชน   สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)หรือสมาชิกวุฒิสภา (สว.)  อาจยื่นกระทู้ถามฝ่ายบริหารในสภาของตนสังกัดอยู่ได้  แต่ถ้าฝ่ายบริหารตำแหน่งใดๆ  ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี  หรือรัฐมนตรีว่าการ   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงใดหรือหลายๆ  กระทรวง ดำเนินการบริหารงานที่ฝ่ายนิติบัญญัติเห็นว่าผิดพลาดจนอันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของสมาชิกทั้งหมดขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมดขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล  ซึ่งถ้าเสียงส่วนใหญ่ลงมติไม่ไว้วางใจให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีท่านใดจะทำให้รัฐบาลหรือรัฐมนตรีผู้นั้นพ้นสภาพจากตำแหน่งนั้นทันที  

            2.   ฝ่ายบริหาร   นอกจากมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว  ยังมีอำนาจในการออกกฎหมายบางชนิดที่จำต้องใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน  เช่น  พระราชกำหนด  พระราชกฤษฎีกา  กฎกระทรวง เป็นต้น และยังมีอำนาจที่จะควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจออกเป็นพระราชกฤษฎีกายุบสภาคืนอำนาจให้แก่ประชาชน   เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่แก่ฝ่ายบริหาร
ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลทำหน้าที่ถูกต้องแล้ว  ประชาชนก็จะเลือกพรรคการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาลนั้นเข้ามาเป็นผู้แทนของตนจำนวนมาก   พรรคการเมืองนั้นก็จะมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลใหม่   แต่ถ้าประชาชนทั้งประเทศส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลเดิมทำหน้าที่บริหารไม่ถูกต้อง  ประชาชนก็จะเลือกพรรคการเมืองที่เคยเป็นฝ่ายค้านเข้ามาเป็นผู้แทนของตนจำนวนมาก   พรรคการเมืองที่เคยเป็นฝ่ายค้านก็มีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ

            3.   ฝ่ายตุลาการ    เป็นฝ่ายเดียวที่มีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่าง ๆ  แต่ก็ต้องพิจารณาพิพากษาตามตัวบทกฎหมายต่างๆ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้บัญญัติขึ้นใช้ในขณะนั้น