Project Citizen

Project Citizen
โครงการเพิ่มพูนความรู้ ส่งเสริมทักษะของนักเรียน และปลูกฝังความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง สามารถทำงานร่วมกันได้ ให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างชาญฉลาด ส่งเสริมเสรีภาพและภราดรภาพ ส่งเสริมสวัสดิการพื้นฐาน นำไปสู่การมีความรับผิดชอบที่มีการพัฒนาองค์ความรู้ และทักษะต่างๆ เพื่อจะทำให้ชุมชนดีขึ้น...ครูชาญวิทย์

วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย 

            ประชาธิปไตย  คือ  การปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน  โดยประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามความพอใจของตนเองอย่างเต็มที่  แต่ต้องไม่ไปละเมิดต่อสิทธิของบุคคลอื่นหรือขัดต่อกฎหมาย  ในระบอบประชาธิปไตยทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญและมีหน้าที่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายบัญญัติไว้

อำนาจอธิปไตย
            อำนาจอธิปไตย  คือ  อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชนทุกคน  แต่เนื่องจากจำนวนของประชาชนมีมากมาย  การจะให้ประชาชนทุกคนมาร่วมกันบริหารประเทศย่อมเป็นไปไม่ได้  ประชาชนจึงต้องแต่งตั้งตัวแทนที่ตนเองเห็นว่าเหมาะสมและจะรักษาผลประโยชน์ของตนเองและประเทศชาติได้ เข้าไปทำหน้าที่แทน  โดยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจ (แต่งตั้ง) ทั้งสามนี้ผ่านกลุ่มผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน

            อำนาจอธิปไตยแบ่งเป็น 3  อำนาจ ดังนี้

            1. อำนาจนิติบัญญัติ     โดยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา  ซึ่งผู้ที่จะใช้อำนาจนี้  คือ  กลุ่มบุคคลที่อาสามาเป็นตัวแทนของปวงชนหลายๆ คนรวมตัวกันตั้งเป็นพรรคการเมือง เสนอตัวบุคคลที่ทางพรรคเห็นว่าเหมาะสมให้ประชาชนเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) มีอำนาจในการออกกฎหมาย  ยกเลิก  แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ  และปกป้องสิทธิ  เสรีภาพของประชาชน  รวมทั้งการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นแก่สังคม  กับบุคคลที่ไม่สังกัดหรือเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)  มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรบัญญัติขึ้น แต่ในเรื่องที่สำคัญมากๆ เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของแผ่นดิน สภาใดสภาหนึ่งไม่มีอำนาจให้ความเห็นชอบได้   ต้องประชุมร่วมทั้งสองสภา  เรียกว่า  รัฐสภา  จึงให้ความเห็นชอบได้ เช่น  การประกาศสงคราม  การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบสนธิสัญญา  เป็นต้น
 
            รัฐสภา   เป็นการประชุมและลงมติร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาโดยประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา   ในกรณีที่ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทนในกรณีต่อไปนี้ ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน
                1) การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
                2) การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา
                3) การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
                4) การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ
                5) การมีมติให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องอื่นในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติได้
                6) การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุม
                7) การเปิดประชุมรัฐสภา
                8) การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
                9) การให้ความเห็นชอบให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติใหม่
               10) การให้ความเห็นชอบให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติต่อไป
               11) การแถลงนโยบาย
               12) การเปิดอภิปรายทั่วไป
               13) การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม
               14) การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบสนธิสัญญา

            2. อำนาจบริหาร พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร   ตามมติคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรและจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระหรือเกินกว่าแปดปีมิได้   สุดแต่ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งกรณีใดจะยาวกว่ากัน  โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยไม่มีการลงมติไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ และเมื่อเข้ารับหน้าที่แล้วต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อกำหนดแนวทาง การปฏิบัติราชการของแต่ละปี

            3. อำนาจตุลาการ  คือ  อำนาจที่ให้แก่ศาลในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีความต่างๆ  ตามที่กฎหมายกำหนดไว้  โดยศาลมีหน้าที่ให้ความยุติธรรมแก่ทุกคนตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราขึ้นมาใช้   โดยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการผ่านทางศาลต่างๆ ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้
                1)   ศาลยุติธรรม   มีประธานศาลฎีกาเป็นหัวหน้าฝ่ายตุลาการ   ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง  เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ศาลยุติธรรมมีสามชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา  เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้หรือตามกฎหมายอื่น
                       (1) ศาลชั้นต้น  เป็นศาลที่ผู้ได้รับความเดือดร้อนต่อการละเมิดกฎหมายหรือเกิดข้อพิพาทใด ๆที่ไม่สามารถตกลงกันได้  จำต้องขอให้ศาลมีคำสั่งหรือตัดสินคดีให้เป็นอันดับแรก   มีอยู่ด้วยกันหลายศาลตามลักษณะของคดี  เช่น  ศาลแขวง   ศาลจังหวัด   ศาลแพ่ง  ศาลอาญา  ศาลคดีเด็ก  ศาลเยาวชนและครอบครัว  ศาลภาษีอากร  ศาลแรงงาน  ศาลแรงงานกลาง  ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
                       (2)  ศาลอุทธรณ์   มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่กฎหมายบัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์   โดยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด  และให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
                       (3)  ศาลฎีกา  มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่รัฐธรรมนูญ   หรือกฎหมายบัญญัติให้เสนอต่อศาลฎีกาได้โดยตรง  และคดีที่อุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์    และมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยต้องใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็ว   และให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา โดยองค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา   ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนเก้าคน ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ และให้เลือกเป็นรายคดี   คดีที่ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาแล้วถือว่าคดีนั้นสิ้นสุดเด็ดขาด
                2)  ศาลรัฐธรรมนูญ   มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งหมด  และมีหน้าที่ควบคุมไม่ไห้มีการออกกฎหมายที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ  ผู้ที่ทำหน้าที่ในศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย  ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  1  คน  และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก  14  คน  โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำเสนอของวุฒิสภา  ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
                3)   ศาลปกครอง  มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

                    ศาลปกครอง  มี  3  ระดับ  คือ  ศาลปกครองชั้นต้น  ศาลปกครองชั้นอุทธรณ์  ศาลปกครองสูงสุด  การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษตุลาการในศาลปกครองต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองอันประกอบประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเก้าคนซึ่งเป็นตุลาการในศาลปกครองและได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองด้วยกันเอง   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาสองคน และจากคณะรัฐมนตรีอีกหนึ่งคน
                4)  ศาลทหาร  มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทหาร  หรือคดีที่ทหารกระทำผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่มีโทษถึงจำคุก

            ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับจะกำหนดให้อำนาจทั้งสามแยกเป็นอิสระจากกัน  มีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน   เพื่อป้องกันไม่ให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งมีอำนาจมากกว่าอำนาจอื่น   อันจะนำไปสู่การใช้อำนาจไปในทางที่ผิด  ทำให้ประชาชนและประเทศได้รับความเดือดร้อนเสียหาย


อำนาจอธิปไตย


การถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจอธิปไตย
            ความสัมพันธ์หรือการถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้ง  3  มีลักษณะ  ดังนี้

            1.   ฝ่ายนิติบัญญัติ   หรือรัฐสภา  นอกจากจะมีอำนาจด้านนิติบัญญัติแล้ว  ยังมีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร  หรือรัฐบาลให้เป็นไปตามที่ฝ่ายบริหารได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา  หรือเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติเห็นว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อน  หรือประชาชนมีความต้องการความช่วยเหลือ  แต่ฝ่ายบริหารยังไม่เข้าไปแก้ปัญหานั้นๆ ให้ประชาชน   สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)หรือสมาชิกวุฒิสภา (สว.)  อาจยื่นกระทู้ถามฝ่ายบริหารในสภาของตนสังกัดอยู่ได้  แต่ถ้าฝ่ายบริหารตำแหน่งใดๆ  ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี  หรือรัฐมนตรีว่าการ   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงใดหรือหลายๆ  กระทรวง ดำเนินการบริหารงานที่ฝ่ายนิติบัญญัติเห็นว่าผิดพลาดจนอันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของสมาชิกทั้งหมดขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมดขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล  ซึ่งถ้าเสียงส่วนใหญ่ลงมติไม่ไว้วางใจให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีท่านใดจะทำให้รัฐบาลหรือรัฐมนตรีผู้นั้นพ้นสภาพจากตำแหน่งนั้นทันที  

            2.   ฝ่ายบริหาร   นอกจากมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว  ยังมีอำนาจในการออกกฎหมายบางชนิดที่จำต้องใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน  เช่น  พระราชกำหนด  พระราชกฤษฎีกา  กฎกระทรวง เป็นต้น และยังมีอำนาจที่จะควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจออกเป็นพระราชกฤษฎีกายุบสภาคืนอำนาจให้แก่ประชาชน   เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่แก่ฝ่ายบริหาร
ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลทำหน้าที่ถูกต้องแล้ว  ประชาชนก็จะเลือกพรรคการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาลนั้นเข้ามาเป็นผู้แทนของตนจำนวนมาก   พรรคการเมืองนั้นก็จะมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลใหม่   แต่ถ้าประชาชนทั้งประเทศส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลเดิมทำหน้าที่บริหารไม่ถูกต้อง  ประชาชนก็จะเลือกพรรคการเมืองที่เคยเป็นฝ่ายค้านเข้ามาเป็นผู้แทนของตนจำนวนมาก   พรรคการเมืองที่เคยเป็นฝ่ายค้านก็มีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ

            3.   ฝ่ายตุลาการ    เป็นฝ่ายเดียวที่มีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่าง ๆ  แต่ก็ต้องพิจารณาพิพากษาตามตัวบทกฎหมายต่างๆ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้บัญญัติขึ้นใช้ในขณะนั้น

หน้าที่ พลเมืองดี


หน้าที่ พลเมืองดี

1.ความสำคัญของการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีของสังคมมีความสำคัญต่อประเทศ เช่น
          1. ทำให้สังคมและประเทศชาติมีการพัฒนาไปได้อย่างมั่นคง
          2. ทำให้สังคมมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
          3. ทำให้เกิดความรักแบะความสามัคคีในหมู่คณะ
          4. สมาชิกในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

          การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีนั้นเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่

2.แนวทางการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวโรงเรียนและชุมชนแนวทางการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นสมาขิกที่ดีมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
          1. การเป็นสมาชิกที่ดีขอบครอบครัว
          2. การเป็นสมาชิกที่ดีของโรงเรียน
          3. การเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน

          เมื่อทุกคนในสังคมไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็กพัฒนาตนเองให้เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ได้จะประสบความสำเร็จ

3. คุณธรรมของการเป็นพลเมืองดี
          1. การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
          2. การมีระเบียบวินัยและรับผิดชอบต่อหน้าที่
          3. รับฟังความคิดเป็นขอบกันและกันและเคารพในมติของเสียงส่วนมาก
          4. ความซื่อสัตย์สุจริต
          5. ความสามัคคี
          6. ความละอายและเกรงกลัวในการกระทำชั่ว
          7. ความกล้าหาญและเชื่อมั่นในตนเอง
          8. การส่งเสริมให้คนดีปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ 

ระบอบเผด็จการ


ระบอบเผด็จการ

         ระบอบเผด็จการ มีลักษณะเด่นอยู่ที่การรวมอำนาจการเมืองการปกครองไว้ที่บุคคลเพียงคนเดียวหรือคณะเดียวหรือพรรคเดียว
          โดยบุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าว สามารถใช้อำนาจนั้นควบคุมบังคับประชาชน ได้โดยเด็ดขาด หากประชาชนคนใดคัดค้านผู้นำหรือคณะผู้นำ ก็จะถูกลงโทษให้ทำงานหนักหรือถูกจำคุก

          ระบอบเผด็จการมี 3 แบบ คือ 1.เผด็จการทหาร
                                                       2.เผด็จการฟาสซิสต์
                                                       3.เผด็จการคอมมิวนิสต์



1. ระบอบเผด็จการทหาร
          ระบอบเผด็จการทหาร หมายถึง ระบอบเผด็จการที่คณะผู้นำฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองโดยตรงหรือโดยอ้อม (ผ่านทางพลเรือนที่พวกตนสนับสนุน)
          และมักจะใช้กฎอัยการศึกหรือรัฐธรรมนูญ ที่คณะของตนสร้างขึ้นเป็นเครื่องมือในการปกครอง โดยทั่วไปคณะผู้นำทหาร มักจะใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศเป็นการชั่วคราว ระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือหลังจากล้มเลิกระบอบประชาธิปไตย
          โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดภัยคุกคามบางอย่างต่อความมั่นคงของรัฐ ส่วนมากแล้วเมื่อเหตุการณ์ความวุ่นวายต่าง ๆ สงบลง
          คณะผู้นำทางทหารก็มักจะอ้างสาเหตุต่าง ๆ นานาเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศต่อไปอีก ไม่ยอมที่จะคืนอำนาจกลับมาให้ประชาชนโดยง่าย
          ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหภาพพม่าในปัจจุบันนี้เป็นต้น แต่ทว่าเมื่อเวลายิ่งผ่านเนิ่นนานออกไปกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชน รวมทั้งแรงกดดันจากนานาชาติ
          ก็จะทำให้คณะผู้นำทางทหารกุมอำนาจการปกครองไว้ไม่ได้ ในที่สุดก็จำเป็นต้องคืนอำนาจให้ประชาน แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ในบางประเทศก็เกิดความวุ่นวาย
          มีการต่อสู้ระหว่างกำลังของประชาชนกับกำลังของรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งจากประวัติศาสตร์การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการปกครองที่ผ่านมา
          มักจะจบลงโดยชัยชนะเป็นของฝ่ายประชาชน เช่นเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่โรมาเนีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ตัวอย่างของการปกครองแบบเผด็จการทหาร เช่น การปกครองของญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นระยะที่พลเอกโตโจและคณะนายทหารใช้อำนาจเผด็จการในการปกครอง
          หรือการปกครองของไทยระหว่างที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ ในระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2511 อำนาจการปกครองประเทศตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะปฏิวัติ
          ซึ่งนำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ส่วนในปัจจุบัน(พ.ศ. 2541) ก็มี เช่น การปกครองของสหภาพพม่าภายใต้การนำของพลเอกตาน ส่วย เป็นต้น

2. ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์
          ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ หมายถึง ระบอบเผด็จการที่ผู้นำคนหนึ่งซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักธุรกิจและกองทัพให้ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ
          ผู้นำในระบอบการปกครองเผด็จการฟาสซิสต์ มักจะมีลัทธิการเมืองที่เรียกกันว่า ลัทธิฟาสซิสต์ เป็นลัทธิชี้นำในการปกครอง และมุ่งที่จะใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศเป็นการถาวร
          โดยเชื่อว่าระบอบการปกครองแบบนี้เหมาะสมกับประเทศของตน และจะช่วยให้ประเทศของตนมีความเจริญก้าวหน้าโดยเร็ว
          ตัวอย่างของการปกครองระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ เช่น การปกครองของอิตาลีสมัยมุสโสลินีเป็นผู้นำ ระหว่าง พ.ศ. 2473 – 2486
          การปกครองของเยอรมนีสมัยฮิตเลอร์เป็นผู้นำ ระหว่าง พ.ศ. 2476 – 2488 หรือการปกครองของสเปนสมัยจอมพลฟรังโกเป็นผู้นำระหว่างพ.ศ. 2480 – 2518 เป็นต้น


3. ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์
          ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ หมายถึง ระบอบเผด็จการที่พรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียวได้รับการยอมรับ หรือสนับสนุนจากกลุ่มบุคคลต่าง ๆ
          และกองทัพให้เป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ คณะผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์เชื่อว่า ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ เป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศของตน
          และจะช่วยทำให้ชนชั้นกรรมาชีพ เป็นอิสระจากการถูกกดขี่โดยชนชั้นนายทุน รวมทั้งทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า และเข้มแข็งทัดเทียมกับต่างประเทศได้เร็วกว่าระบอบการปกครองแบบอื่น
          ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์มีความแตกต่าง จากระบอบเผด็จการทหารอยู่ข้อหนึ่งที่สำคัญ คือ ระบอบเผด็จการทหารจะควบคุมเฉพาะกิจกรรมทางการเมืองของประชาชนเท่านั้น
          แต่ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์จะใช้อำนาจเผด็จการควบคุมกิจกรรมละการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การปกครอง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม
          ด้วยเหตุนี้นักรัฐศาสตร์จึงเรียกระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์อีกอย่างหนึ่งว่า ระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ

หลักการของระบอบเผด็จการ
          1. ผู้นำคนเดียวหรือคณะผู้นำของกองทัพ หรือของพรรคการเมืองเพียงกลุ่มเดียวมีอำนาจสูงสุด และสามารถใช้อำนาจนั้นได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องฟังเสียงคนส่วนใหญ่ในประเทศ
          2. การรักษาความมั่นคงของผู้นำหรือคณะผู้นำ มีความสำคัญกว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนไม่สามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของผู้นำอย่างเปิดเผยได้
          3. ผู้นำหรือคณะผู้นำสามารถที่จะอยู่ในอำนาจได้ตลอดชีวิต หรือนานเท่าที่กลุ่มผู้ร่วมงานหรือกองทัพยังให้การสนับสนุน ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนผู้นำได้โดยวิถีทางรัฐธรรมนูญ
          4. รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญและรัฐสภา ไม่มีความสำคัญต่อกระบวนการทางการปกครองเหมือนในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ รัฐธรรมนูญเป็นแต่เพียงรากฐานรองรับอำนาจของผู้นำหรือคณะผู้นำเท่านั้น ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนที่จัดขึ้นก็เพื่อให้ประชาชนออกเสียงเลือกตั้งผู้สมัครที่ผู้นำหรือคณะผู้นำส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน รัฐสภาก็จะประชุมกันปีละ 5 – 10 วัน เพื่อรับทราบและยืนยันให้ผู้นำหรือคณะผู้นำทำการปกครองต่อไป ตามที่ผู้นำหรือคณะผู้นำเห็นสมควร

ข้อดีและข้อเสีย ของระบอบเผด็จการ
          ข้อดีของระบอบเผด็จการ ได้แก่
          1. รัฐบาลสามารถตัดสินใจทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้รวดเร็วกว่ารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย เช่น สามารถออกกฎหมายมาใช้บังคับเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากเสียงข้างมากในรัฐสภา ทั้งนี้ก็เพราะผู้นำหรือคณะรัฐมนตรีมักจะได้รับมอบอำนาจจากรัฐสภาไว้ล่วงหน้าให้ออกกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับบางอย่างได้เอง
          2. แก้ปัญหาบางอย่างได้อย่างมีประสิทธิผลกว่าระบอบประชาธิปไตย เช่น สั่งการปราบการจลาจล การก่ออาชญากรรม และการก่อการร้ายต่าง ๆ ได้อย่างเฉียบขาดมากกว่า โดยไม่จำต้องเกรงว่าจะเกินอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ เนื่องจากศาลในระบอบเผด็จการไม่ได้มีความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีเหมือนในระบอบประชาธิปไตย


          ข้อเสียของระบอบเผด็จการ ได้แก่
          1. เป็นการปกครองโดยบุคคลคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ซึ่งย่อมจะมีการผิดพลาดและใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องได้โดยไม่มีใครรู้หรือกล้าคัดค้าน
          2. มีการใช้อำนาจเผด็จการกดขี่และลิดรอนสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งประทุษร้ายต่อชีวิตของคนหรือกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ปกครอง
          3. ทำให้คนดีมีความสามารถที่ไม่ใช่พวกพ้อง หรือผู้สนับสนุนกลุ่มผู้ปกครองไม่มีโอกาสดำรงตำแหน่งสำคัญในทางการเมือง
          4. ประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกกดขี่และขาดสิทธิเสรีภาพ ย่อมจะไม่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่และอาจพยายามต่อต้านอยู่เงียบ ๆ หรือมิฉะนั้นบางคนก็อาจจะหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่บุคคลเหล่านี้มักจะเป็นพวกปัญญาชน ทำให้ประเทศชาติขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ
          5. อาจนำประเทศชาติไปสู่ความพินาศได้ เหมือนดังฮิตเลอร์ได้นำประเทศเยอรมนี หรือพลเอกโตโจได้นำประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งผลปรากฏว่าทั้งสองประเทศประสบความพินาศอย่างย่อยยับ หรือตัวอย่างเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน เห่งอิรัค ได้ส่งกำลังทหารเข้ายึดครองประเทศคูเวต และไม่ยอมถอนตัวออกไปตามมติขององค์การสหประชาชาติ จนกองกำลังนานาชาติต้องเปิดฉากทำสงครามกับอิรักเพื่อปลดปล่อยคูเวต และผลสุดท้ายอิรักก็เป็นฝ่ายปราชัยอย่างย่อยยับ ทำให้ประชาชนชาวอิรักต้องประสบความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต การพัฒนาประเทศหยุดชะงัก ทั้งนี้เป็นเพราะการตัดสินใจผิดพลาดของผู้นำเพียงคนเดียว

          เนื่องจากระบอบประชาธิปไตย และระบอบเผด็จการ ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียดังกล่าว จึงทำให้ชนชั้นนำ และประชาชนจำนวนหนึ่งในประเทศต่างๆ 
          เลือกใช้ระบอบการปกครอง ที่พวกตนคิดว่าเหมาะสมกับประเทศของตนในขณะนั้น และสามารถช่วยแก้ปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในประเทศของตนตามแนวทางที่พวกตนเชื่อได้ 
          ดังจะเห็นได้ว่า ในระยะตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา บางประเทศได้เปลี่ยนแปลงการปกครองของตนจากระบอบเผด็จการมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เช่น เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น โปรตุเกส สเปน เป็นต้น 
          ส่วนบางประเทศก็เปลี่ยนจากระบอบประชาธิปไตยมาเป็นระบอบเผด็จการทหาร เช่น พม่า นิการากัว เอธิโอเปีย เป็นต้น 
          ในทำนองเดียวกัน บางประเทศก็เปลี่ยนจากระบอบเผด็จการฟาสซิสต์หรือเผด็จการทหารเป็นระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ เช่น เกาหลีเหนือ เป็นต้น

จิตสำนึก คือ อะไร




          จิตสำนึก เป็นสภาพที่รู้ตัวว่าคือใคร อยู่ที่ไหน ต้องการอะไร หรือกำลังรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งใด เมื่อแสดงพฤติกรรมอะไรออกไปก็แสดงออกไปตามหลักเหตุและผล แสดงตาม แรงผลักดันจากภายนอก สอดคล้องกับหลักแห่งความเป็นจริง (principle of reality)
          จิตสำนึกเป็นระดับเหตุผลภายในใจ  ที่ส่งผลต่อการแสดงออกในพฤติกรรมต่างๆ โดยเลือกแล้วว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร เป็นการระลึกรู้ได้เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของตัวเองในโครงสร้างสังคม 
          ดังที่เราจะได้ยินบ่อย ๆ ว่า จิตสำนึกแห่งความเป็นครู  จิตสำนึกของพลเมือง จิตสำนึกสาธารณะ  จิตสำนึกของการเป็นคนดี  จิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม จิตสำนึกจึงเกี่ยวโยงกับคุณธรรม และจริยธรรมของบุคคลนั่นเอง 

          การที่บุคคลจะมีคุณธรรม มีจิตสำนึกที่ดี จำต้องมีการอบรมสั่งสอนหรือซึมซับประสบการณ์จากครอบครัว หรือสังคมรอบตัว และผ่านการกระทำจนเป็นสันดานแห่งความดี หรือจิตสำนึกนั่นเอง อยู่ๆจะให้มีจิตสำนึกเกิดขึ้นเองคงจะเป็นไปได้ยาก

จิตสำนึก คือ อะไร ??

          มีหลายกลุ่ม หลายนักคิดให้คำนิยามหลายอย่าง ในที่นี่ขอใช้การใคร่ครวญถึงความหมายนี้ ว่าน่าจะหมายถึงอะไร
          จิตสำนึกคือ การระลึกรู้ได้เกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในโครงสร้างสังคม ดังที่เราจะได้ยินบ่อย ๆ ว่า จิตสำนึกแห่งความเป็นครู  จิตสำนึกของพลเมือง จิตสำนึกสาธารณะ  จิตสำนึกของการเป็นคนดี  จิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม

จิตสำนึกเกิดจากอะไร ??

          จิตสำนึกเกิดจากระบบสังคมนั่นเอง  สังคมเป็นอย่างไร จิตสำนึกก็เป็นเช่นนั้น ระบบสังคม ก่อให้เกิดโครงสร้างตำแหน่งทางสังคมที่ซ้อนทับกันอยู่
          เมื่อเรายังเด็ก เราก็ได้เรียนรู้จิตสำนึกของความเป็นลูก  จิตสำนึก ของความเป็นนักเรียน  พอโตขึ้นมีโครงสร้างและตำแหน่งที่เลื่อนไหลไปมา เราก็กลายเป็นจิตสำนึกตามตำแหน่งหน้าที่
          ซึ่งในโครงสร้างเราอาจมีอยู่หลายหน้าที่  เช่นเป็นพ่อแม่ เป็นลูก  มีตำแหน่งงานราชการ เอกชน
สิ่งที่บุคคลได้เรียนรู้จากสังคมที่สำคัญที่สุดคือ อำนาจ
          พอเราเป็นเด็ก เราได้เรียนรู้ว่า ผู้ใหญ่นั้นมีอำนาจมากกว่าเด็ก  ครูมีอำนาจมากกว่าเด็ก ไม่ว่าเราจะอยู่ในโครงสร้างไหนก็ตาม สังคมจะมีการสร้างความรู้สึกยินยอมต่ออำนาจ หรือมีจิตสำนึกตามโครงสร้าง

กลไกของการเกิดจิตสำนึก

          โครงสร้างสังคมหรือสถาบันทางสังคมที่มีอำนาจและศักยภาพ เป็นผู้ก่อรูปการจิตสำนึก ครอบครัวอยู่ใกล้ชิดบุคคล มีส่วนกำหนดจิตสำนึก
          โรงเรียนมีส่วนกำหนดจิตสำนึก กลุ่มเพื่อนมีส่วนกำหนดจิตสำนึก  และสถาบันสื่อสารมวลชนเป็นผู้กำหนดจิตสำนึก
          ดังนั้นเมื่อเราอยู่ในโครงสร้างส่วนใด ก็จะได้เรียนรู้จิตสำนึกนั้น เป็นชุดของจิตสำนึก กลายเป็นระบบความคิดความเชื่อผสมผสานกันไป
          จิตสำนึกก่อให้เกิดการรวมหมู่ เช่น คนที่มีความคิดความเชื่อ คล้าย ๆ กัน  ก็จะมีจิตสำนึกที่ใกล้เคียงกัน
          จิตสำนึกจะบอกว่าเราเป็นใคร?  มีตำแหน่งแห่งที่อยู่ที่ไหน ? มีเป้าหมายอย่างไร?  ไปทางไหน ?  เนื่องจากจิตสำนึก เป็นสิ่งที่ถูกผลิตสร้าง มีความเปลี่ยนแปลงและผสมผสาน และกระจายรูปแบบไปอย่างซับซ้อน
          จิตสำนึกนั้นจะให้คุณค่ากับอะไรมากว่าอะไร  ก็จะมีคำตอบอยู่ในชุดของความคิดความเชื่อในจิตสำนึกนั้น

จิตสำนึก สร้างและสืบทอดได้ไหม ??  

          จิตสำนึกเป็นผลผลิตที่สร้างขึ้นมาและผลิตซ้ำสืบทอดกันได้ โดยมีกิจกรรม ที่ตอกย้ำซ้ำเตือนกันบ่อย ๆ  กิจกรรมในพิธีกรรม
          ถ้าจะตามหาจิตสำนึกที่เป็นโครงสร้างส่วนบน ก็ต้องมองหากิจกรรมที่ทำซ้ำ ๆ กัน  กิจกรรมในพิธีกรรม จะเห็นมิติทางด้านอารมณ์ซึ่งสมองจะสามารถรับรู้ได้ดีกว่า
          ในพิธีกรรมจะเห็นได้ชัดว่า ให้คุณค่ากับอะไร สร้างและสืบทอดกัน  เป็นการศึกษาตามอัธยาศัย ทีทรงประสิทธิภาพ

จิตสำนึก มีกี่แบบ ??

          จิตสำนึกมีอยู่สองแบบ คือ
          แบบที่หนึ่ง จิตสำนึกเพื่อตอกย้ำถึงตำแหน่งแห่งที่ในระบบ เป็นเป็นระบบวิถีชีวิตประจำวันตามปกติ
          และแบบที่สอง  จิตสำนึกในสถานการณ์ ไม่ปกติ  เช่นมีการเขย่าโครงสร้างสังคมในเวลาวิกฤติ เช่น การชุมนุมประท้วงตั้งแต่ระดับเบา ๆ ไปถึง ระดับรุนแรง ที่เป็นการเขย่าโครงสร้างสังคม  การที่คนปกติได้รับ
          การผลิตซ้ำให้มีจิตสำนึกตามหน้าที่  ได้ถูกสร้างจิตสำนึกใหม่ ให้เป็นจิตสำนึกแห่ง ผลประโยชน์ ทางชนชั้น  ดังที่จะได้เห็นจากการให้ข้อมูลใหม่ ๆ ตอกย้ำ ซ้ำๆ กัน
          บางอย่างมีการทำพิธีกรรม เพื่อสื่อให้เห็นถึงเป้าหมาย และคุณค่าใหม่ ที่จะดำเนินต่อไป การเคลื่อนย้ายตัวตนจิตสำนึกจากเดิม ไปสู่ใหม่มีเงื่อนไขมาจากสถานการณ์ไม่ปกติ
          ผู้นำการเคลื่อนไหว  ได้กลายเป็นสถาบันแทนสถาบันหลัก ๆ ดังกล่าว  อารมณ์และความรู้สึก
มีความจำเป็นในการตอกย้ำจิตสำนึก  กิจกรรมการแบกโลง เผาหุ่น ล้วนแต่เป็นการกระทำ
เชิงโครงสร้างสัญญะทั้งสิ้น

จิตสำนึก  ปลูก ได้ไหม ??

          จิตสำนึก ปลูกได้ ผลิตได้  สร้างได้ สร้างได้ใน การศึกษาตามอัธยาศัยเท่านั้น ยกตัวอย่าง จิตสำนึกประชาธิปไตย ในห้องเรียน เป็นเพียงรูปแบบประชาธิปไตยที่ต้องได้รับอนุญาตจากโครงสร้างที่ใหญ่กว่าคือครู  ตามวัฒนธรรมอำนาจที่ครูเป็นใหญ่กว่านักเรียน ทำให้คุณค่าและเป้าหมายของจิตสำนึกประชาธิปไตยไม่ได้เป็นอย่างสากล แต่เป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ อย่างที่เราได้เห็นในสถานการณ์บ้านเมือง
          ในห้องเรียนสิ่งที่ปลูกฝังได้ไม่ใช่สิ่งที่พูด  แต่เป็นวัฒนธรรมของโครงสร้างอำนาจและการบริโภคแบบทุนนิยม ที่ได้รับแบบอย่างจากการเห็น ซึ่งเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย ระบบสังคมเป็นอย่างไรจิตสำนึกเป็นอย่างนั้น
          จิตสำนึกที่มาแรงที่สุดตอนนี้ ก็คือ จิตสำนึกแบบทุนนิยม โครงสร้างแบบนี้ก็คือ เป็นผู้บริโภคสินค้าและทรัพยากรที่ดี ทำทุกอย่างเพื่อเงิน
          จะเห็นได้ว่าบางบ้านเห็นบุตรหลานไม่ใช่บุตรหลานอีกต่อไป  บางคนขายลูกหลานให้ไปเป็นโสเภณี ซื้อขายเก้าอี้ ซื้อขายตำแหน่ง  ซื้อขายสิทธิ์ ซื้อขายเสียงเป็นทรัพยากรต่าง ๆ เป็นเงิน เป็นความมั่งคั่ง เป็นโภคยทรัพย์
          ถามว่าสิ่งที่มาแรงเหล่านี้มันปลูกจิตสำนึกได้แรงจัง เพราะอะไร เพราะมันปรากฏเป็นความเชื่อ ความคิดของระบบสังคม มีคนยึดถือปฎิบัติ
          ตั้งแต่ระดับครอบครัว กลุ่มเพื่อน ในโรงเรียน และสื่อมวลชน สิ่งที่ตอกย้ำทรงพลังที่สุดคือสื่อมวลชน เพราะทำหน้าที่โฆษกของระบบทุนนิยม
          เพื่อกระจายสินค้า ผ่านละคร ที่ส่วนใหญ่เป็นคนรวย ไม่ค่อยมีการงานทำ แต่งตัวหรูหรา เอาใจใส่และริษยาแย่งทรัพย์สมบัติ แย่งพระเอกที่เป็นคนรวย
          นอกจากนั้นแล้วสถาบันศาสนา ก็เน้นวัตถุนิยม บุญเป็นการค้า ตลอดจนการทำหน้าที่ ปลอบประโลมให้คนอยู่รับใช้ระบบทุนนิยม มีเงินมาก ได้บุญมาก
          จิตสำนึกที่มีพลังที่สุด ก็จะครอบครองความเป็นเจ้า (Hegemoney) และก็จะกดทับ ปิดกั้น จิตสำนึกรูปแบบอื่น  ไม่ว่าจะเป็นจิตสำนึกสาธารณะ จิตสำนึกทางสังคม

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/508271

จิตสำนึกพลเมือง


จิตสำนึกพลเมือง
16 มีนาคม 2014 เวลา 20:04 น.
--------------------------------------------------------------

         เราทุกคนเป็นพลเมือง อาศัยอยู่ในสังคมเดียวกัน อาจจะมีชื่อย่อยต่างๆนานา แต่ก็รวมกันเป็นประเทศเดียวกัน อาศัยในภูมิประเทศสุวรรณภูมิ พูดภาษาไทย เล่าเรียนรู้ประวัติศาสตร์รากเหง้าความเป็นไทยและความเป็นไท ร้องเพลงชาติเดียวกัน เพลงสรรเสริญพระบารมีเดียวกัน สืบทอดคุณงามความดี และศักดิ์ศรีของชาติเดียวกัน

         ไม่ว่าเราจะทำอะไร และไม่ว่าเราจะไม่ทำอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนส่งผลไปถึงการกำหนดว่า "เราเป็นใคร" เสมอ ไม่มีข้อยกเว้น เราทุกคนมีส่วนในการที่สังคมเป็นอย่างที่ได้เป็น กำลังเป็น และที่สำคัญมากก็คือ "กำลังจะเป็น" ในอนาคตด้วย

         ทั้งความดี ความไม่ดี จุดอ่อน จุดแข็ง ของชุมชนและสังคม เป็นผลเกิดขึ้นมาจากความรับผิดชอบร่วมกันทั้งสิ้น

         จากการศึกษารวบรวมข้อคิดเห็น ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งคือการยอมรับคอรับชั่นถ้าในเงื่อนไขที่ตนเองได้รับผลประโยชน์ด้วย ทำแล้ว ทำอีก ก็ยังได้ผลเหมือนเดิม ถ้าเรายอมรับปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นความจริง "เราทุกคน" จะต้องมีส่วนรับผิดชอบในการทำให้เกิดขึ้น และคำถามที่เราจะต้องรีบถามตนเองก็คือ "แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป?"

         @ บ้างก็อาจจะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง ฉันไม่เคยโกง ไม่เคยคอรัปชั่น จะหาว่าเกี่ยวได้อย่างไร ก็ต้องตอบคำถามว่า แล้วเคยเห็นคนโกง คนคอรับชั่นหรือไม่ ในการใช้ชีวิตที่ผ่านมา และถ้าเคยเห็น ได้ลงมือกระทำอะไรไปบ้าง? หรือว่าเฉยๆ ธุระไม่ใช่ หากเป็นเช่นนั้น "การเฉยๆ ธุระไม่ใช่"นั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การโกง การคอรัปชั่นเติบโต งอกงาม และกัดกินสังคม

         @ บ้างก็บอกว่าเคยเห็น แต่การต่อต้าน กำจัดเรื่องเหล่านี้ เป็น "หน้าที่ของคนอื่น" ไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง ซึ่งเรื่องนี้น่าสนใจ นำมาสู่คำถามที่สำคัญคือ "การตรวจตราดูแลการโกง การคอรัปชั่นในสังคม (หมายถึงรวมทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ในชุมชน ฯลฯ) นั้น เป็นหน้าที่ของบางคน หรือเป็นหน้าที่ของทุกคนกันแน่?

         @ บ้างอาจจะบอกว่าการโกง การคอรัปชั่น ก็เป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติ ใครๆก็ทำกัน เพราะมีเส้น มีสาย มี connection กัน มีเพื่อน มีคนรู้จัก ฯลฯ ที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ใครทำประโยชน์ให้เรา เราก็ทำประโยชน์ให้ตอบแทน เป็นเรื่อง "ปกติ" ความคิดแบบนี้บิดเบี้ยวถึงขนาด "ผิดปกติจนเป็นปกติ" ไป แยกแยะไม่ออกระหว่างบุญคุณส่วนตัว กับประโยชน์ของสาธารณะ ของชุมชน ของประเทศ เป็นพยาธิสภาพในกลุ่มคนที่ระบบความคิดไม่มีพื้นที่เติบโตของ "คุณค่า"ที่เป็นธรรม เป็น "ความดี" เหลืออยู่ มีแค่คุณค่าแบบรูปธรรม และข้อสำคัญคือ แบบ "ตัวเองเป็นหลัก" ไม่มีจิตสาธารณะ ไม่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
 
         ถ้าหากประการหลังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสัดส่วนประชากรส่วนใหญ่ สังคมนั้นๆ กำลังจะเน่า กำลังสึกกร่อน และหมดพลังที่จะดำเนินต่อไปในอนาคต

         เพราะคุณค่าที่แท้จริงของมนุษย์นั้น ไม่ได้ขึ้นกับการรู้จักกัน ไม่ได้อยู่ที่การเห็นแก่ตัว เห็นแก่พวกพ้อง แต่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อ "ศักยภาพที่แท้" ของมนุษย์ อันเป็นองค์รวม อันเป็น collective สามารถเชื่อมโยงและนำมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุดเท่านั้น อันระบบพรรคพวก เหมือนกับการแต่งงานในกลุ่มพันธุกรรมแคบๆ ซึ่งมีแต่จะเพิ่มโอกาสให้พันธุกรรมด้อย แสดงออกมามากขึ้นเรื่อยๆ สายพันธุ์แบบนั้นจะอ่อนแอลง และเกิดวิกลวิกาล จนสูญพันธุ์ไปในที่สุด ทำลายสภาวะสิ่งแวดล้อมไปด้วยในระหว่างนั้น

         การโกงกินในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่เราทุกคนมีส่วนทำให้เกิดขึ้น ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และเราจึงต้องรับผิดชอบที่จะทำอะไรสักอย่าง เพื่อแก้ไขให้ดีที่สุด

         ณ เวลานี้ การแก้ไขระยะสั้นยังไม่มีใครทราบว่าจะออกมาในลักษณะแบบใด แต่ทว่า อย่าได้ตั้งความมุ่งมั่นเพียงแค่ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น ประเทศที่โกงกินได้ลึกซึ้ง จำนวนมากมายมหาศาล และลุกลามไปทั่วทุกวงการแบบนี้ มีพยาธิสภาพเกิดขึ้นแล้วเป็นเวลานาน การเยียวยาจะไม่มีทางลัด จะต้องผ่านยาแรง และดูแลกันเป็นเวลายาวนานไม่แพ้กัน จะเปลี่ยนความคิดปลูกฝังเรื่องการดูและพรรคพวก พี่น้อง ครอบครัว ก่อนการคิดถึงเรื่องส่วนรวม เรื่องของสาธารณะ เป็นคุณค่ามุมมองที่ต้องปลูกฝัง ประคบประหงม ดูแลกันเป็นเวลานาน การฝึกสื่อสารด้วยจิตใจที่เมตตา กรุณา แต่ก็เด็ดขาดและชัดเจนในคุณค่าสังคมนั้น เป็นการกระทำระยะยาว ไม่ใช่ระยะสั้น การจะหลุดพ้นจากความคุ้นชินเดิม ความมักง่าย ชอบทำอะไรสั้นๆ เห็นผลเร็วๆ ไม่ได้ก็ใช้กำลังเข้าแก้ไข จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ระยะสั้น และฝังรากพยาธิกำเนิดลงไปลึกกว่าเดิม

         ถามตัวเองทุกวันว่า วันนี้เราทำอะไรเพื่อปลูกฝังความดี เพื่อลดความชั่ว และดูแลจิตใจตนเองให้ผ่องใส เบิกบาน เต็มไปด้วยความรัก และเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น มองเห็นความรับผิดชอบในส่วนของตนเองต่อสังคมบ้างแล้วหรือไม่

         แล้วก็ลงมือกระทำไปเดี๋ยวนี้ ตอนนี้ อย่าหยุด

สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์
๙ นาฬิกา ๕๓ นาที วันจันทร์ที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๗
วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง

โครงการสร้างสำนึกพลเมือง


โครงการสร้างสำนึกพลเมือง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------

          โครงการสร้างสำนึกพลเมือง โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด สังกัด สพม.27 ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประชาธิปไตยโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน

ผู้รับผิดชอบโครงการ  
         กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม

หลักการ
         1.เรียนรู้ประชาธิปไตยโดยใช้ปัญหาเป็นฐานผ่านโครงการสร้างสำนึกพลเมือง
         2.มุ่งเน้นให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
         3.เน้นการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองและการทำงานเป็นทีม
         4.ครูเป็นที่ปรึกษาและอำนวยความสะดวก ส่งเสริม และกระตุ้นให้ตระหนักในความรับผิดชอบ แสวงหาความรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และทักษะการสื่อสารการแก้ปัญหาด้วยเหตุและผล
         5.บทบาทของนักเรียน ตระหนักในความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง

วัตถุประสงค์
         1.นักเรียนเข้าใจและสามารถนำความรู้ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยนำไปสร้างสรรค์โครงงานสาธารณะประโยชน์
         2.นักเรียนมีความสามารถนำทักษะการศึกษาค้นคว้า การใช้เทคโนโลยี การบริโภคสื่อ และข้อมูลข่าวสาร การคิดวิเคราะห์วิจารณ์ การตัดสินใจ การสื่อสาร การจัดการและเผชิญความขัดแย้ง นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ
         3.มีเจตคติที่ดีต่อการดำรงชีพตามวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติให้ตนเป็นพลเมืองดี
         4.ครูนำศักยภาพของครูมืออาชีพไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้พัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพเป็นพลเมืองโลกที่ดี

จุดประสงค์โครงการ

         1.ช่วยในการเรียนรู้ว่าจะแสดงความคิดเห็นอย่างไร และตัดสินใจว่าหน่วยงานใดที่เหมาะสมที่สุด ในการจัดการกับปัญหาที่ได้ระบุไว้
         2.ทำอย่างไรที่จะโน้มน้าวให้มีการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายในการจัดการกับปัญหา
         3.จะต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยได้รับคำแนะนำจากครูและอาสาสมัคร เพื่อดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จ

กรอบแนวคิดของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
         “ประชาธิปไตยโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน"

ขั้นตอนที่ 1 กำหนดปัญหาสาธารณของท้องถิ่น
         1.1 การสร้างความเข้าใจประเด็นปัญหา

ขั้นตอนที่ 2 การศึกษา ค้นคว้าข้อมูล
         2.1 ข้อมูลยืนยันสภาพปัญหา
         2.2 ข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหา

ขั้นตอนที่ 3 การสังเคราะห์ความรู้
         3.1 การอธิบายปัญหา
         3.2 การตรวจสอบนโยบายทางเลือก
         3.3 การนำเสนอนโยบายสาธารณะ
         3.4 การจัดทำแผนปฏิบัติการ
         3.5 การจัดทำแฟ้มผลงาน (แผนผังผลงานและแฟ้มเอกสาร)

ขั้นตอนที่ 4 การสรุปและประเมินผลงาน
         4.1การนำเสนอแฟ้มผลงาน (โดยวาจาและเอกสาร)
         4.2การสะท้อนประสบการณ์การเรียนรู้

บทบาทนักเรียน
         ตระหนักต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง
         มีความรับผิดชอบ
         ใช้ทักษะในการเรียนรู้
         แบ่งบทบาทหน้าที่ในการทำงาน
         มีส่วนร่วมในกิจกรรม (ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติ ร่วมให้ข้อมูลย้อนกลับ)

บทบาทครู
         เป็นผู้อำนวยความสะดวก
         ส่งเสริมและกระตุ้นความรับผิดชอบ
         ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ทักษะ
         ประเมินทักษะและความก้าวหน้าการเรียนรู้

ผลการเรียนรู้
         สร้างความรู้ ความเข้าใจ
         เกิดทักษะ
         เกิดเจตคติที่ดี